กรรมของชาวนาในปีทอง

         ท่ามกลางที่ใครๆ บอกว่าปีนี้เป็นปีทองของภาคเกษตรไทยนั้น ปรากฏว่า ภาคเกษตรของไทยก็ประสบปัญหาทั้งทางธรรมชาติและศัตรูพืชไม่น้อยเหมือนกันครับ ที่เห็นกันชัดเจนตอนนี้คือเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดในนาข้าว และเพลี้ยแป้งในไร่มันสำปะหลัง และมีโรคอีกชนิดหนึ่งที่หายไปจากบ้านเรานับสิบๆ ปี ก็โผล่มาอีกครับ คือโรคใบเขียวเตี้ย และโรคใบหงิก ซึ่งตอนนี้ต้องไขลานเจ้าหน้าที่ภาครัฐใหม่ครับ เพราะต่างก็ไม่คิดว่าโรคนี้จะกลับมาอีก จึงไม่มีใครสนใจศึกษาข้อมูล ขณะที่อีกด้านหนึ่งปัญหาภัยธรรมชาติ น้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศมีปริมาณน้อยลงกว่า 2-3 ปีก่อนมาก ถึงขนาดต้องจำกัดพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังปี 2552-2553

           เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในนาข้าวกินพื้นที่ถึง 8.3 แสนไร่ ถือเป็นการระบาดหนักในรอบสิบปีทีเดียว เพราะประเทศไทยที่มีเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดหนักคือปี 2532-2533 เมื่อ 20 ปี และปี 2552-5243 ก็หนักเหมือนกัน จะเห็นได้ว่าโรคเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดหนัก 10 ปีต่อครั้ง

           ทางออกต้องกำจัดครับ คือวิธีที่ดีที่สุดต้องไถ่กลบ อย่างล่าสุดการประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ที่กรมวิชาการเกษตร เมื่อวันที่ 29 มกราคม ที่ผ่านมา ได้หยิบยกทั้งปัญหาของศัตรูพืชและเรื่องแล้ง แต่เน้นไปที่มาตรการและแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยด้านการเกษตร ในส่วนของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล โรคเขียวเตี้ย และโรคใบหงิก โดยมี ท่านธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน

           การประชุมในวันนั้น ท่านธีระบอกว่า ปัญหาพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลได้ลดปริมาณลงแล้ว เหลือ 6.7 แสนไร่ จาก 8.3 แสนไร่ ซึ่งที่เหลือค่อนระบาดรุนแรง ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ กำหนดช่วยเหลือเบื้องต้น 4 ส่วน คือ 1.ช่วยเหลือเป็นเงินสด กรณีที่เกษตรที่พบโรคระบาดอย่างรุนแรงในอัตราไร่ละ 2,065 บาทต่อไร่ รวมเป็นเงินทั้งหมด 1,863 ล้านบาท 2.เมื่อสำรวจพื้นที่แล้ว รัฐจะดำเนินการไถ่กลบในพื้นที่ระบาดทั้ง 6.7 แสนไร่ โดยมีค่าใช้จ่ายรายละ 400 บาท รวมเป็นงบประมาณ 333.2 ล้านบาท

           3.รัฐจะช่วยเหลือจัดกิจกรรมสนับสนุนผู้ที่ประสบโรคระบาด โดยฝึกอบรมอาชีพเสริมและฝึกอบรมความรู้เรื่องข้าว ตลอดจนสนับสนุนเมล็ดข้าวพันธุ์ดี ที่สามารถต้านโรคเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล รวมทั้งโรคเขียวเตี้ย และโรคใบหงิกได้ ซึ่งคิดเป็นค่าใช้จ่ายรายละ 315 ต่อไร่ และ 4.จะให้เกษตรกรพักชำระหนี้ให้แก่ ธ.ก.ส. เป็นระยะเวลา 1 ปี โดยรัฐบาลจะเป็นผู้จ่ายดอกเบี้ยให้

           นั่นแสดงให้เห็นว่า การระบาดของโรคนี้อยู่ในขั้นที่โคม่าแล้ว ทำให้ปีทองของการส่งออกสินค้าเกษตรไทยทำได้เพียงบางส่วน ในขณะที่ชาวนาจำนวนไม่น้อยที่ประสบความหายนะจากเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลครับ

 

Leave a Reply

Free Web Hosting