Archive for the "ปัญหา เกี่ยวกับการทำการเกษตร" Category

ปัญหาราคาข้าวปัญหาของชาวนาไทยที่ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง

ปัญหาราคาข้าวปัญหาของชาวนาไทยที่ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง

ปัญหาราคาข้าวปัญหาของชาวนาไทยที่ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังในความเป็นจริงมาตรการแก้ปัญหาราคาข้าวโดยการรับจำนำที่ผ่านก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จเป็นรูปธรรมเท่าที่ควร  เรียกได้ว่าไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้  ถือให้ชาวนาได้ประโยชน์จากการประกันราคาข้าวมากที่สุด  และรัฐบาลเสียเงินส่วนต่างกับราคาขายจริงให้น้อยที่สุด  แต่ในความเป็นจริงแล้วหาได้เป็นเช่นนั้นไม่  ความจริง ชาวนาก็ยังได้รับประโยชน์จากการประกันราคาข้าวเพียง่ได้ราคาดีขึ้นกว่าเดิมเท่านั้นเอง ในขณะที่รัฐบาลก็ยัง คงเสียเงินส่วนต่างในราคาสูงเหมือนเดิม  คนที่ได้ประโยชน์จริง ๆ แล้วเป็นโรงสีข้าว นายทุน พ่อค้าคนกลาง   สมัยรัฐบาลคุณสมัคร สุนทรเวช  ราคาประกันที่ 14000 บาท/เกวียน  แต่ชาวนา จำหน่ายข้าวได้ในราคา 11000-12000 บาทเท่านั้น   บางรายไปขอจำนำกับทางโรงสี  ทางโรงสีก็ไม่รับจำนำ  บางรายเข้าคิวเพื่อจะ  จำหน่ายข้าวในราคาประกันกับโรงสีต้องเข้าคิวรอถึง  48  ชั่วโมง   ครันจะไปขายกับโรงสีหรือนายทุนอื่นที่โดยไม่ผ่านการประกันราคาก็ได้ราคาเพียงเกวียนละ 9000 บาท ซึ่งต่ำกว่าโรงสีที่เข้าร่วมโครงการกับรัฐบาล  (ถูกกว่าราคาประกันมาก) ต่อมาในสมัยคุณสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกฯ มีโครงการประกันราคาข้าว  ในราคา 12000บาท/เกวียน โครงการเริ่มใช้ 1 พ.ย. 51 กว่าจะขายข้าวในราคาประกันได้ก็ช่วงปลายเดือน พ.ย.   ซึ่งในความป็นจริงชาวนาขายข้าวได้แรกๆ  ราคาอยู่ที่ 10800 บาท/เกวียน   ส่วนราคาที่ไม่ได้ผ่านการประกันราคาข้าว   หรือไปขายโรงสีที่ไม่รับจำนำได้ราคาที่ต่ำกว่า ประมาณ 25 – 30 %   สำหรับปัญหาก็ไม่ได้จบเพียงแค่ราคาข้าวอย่างเดียวอีกปัญหาหนึ่งของชาวนาเกี่ยวกับการประกันราคาข้าวของรัฐบาล  คือ  การขายข้าวให้กับโรงสี ที่ร่วมโครงการนับตั้งแต่วันที่ขายโรงสีจะบอกชาวนาเลยว่าเป็นการฝากข้าวไว้ก่อน   ไม่รู้ว่าใบประทวนจะออก วันไหนนั่นก็หมายถึงว่าชาวนาก็ไม่รู้ชะตากรรมว่าจะได้เงินเมื่อไหร่  ชาวนาบางท่านบอกว่า 45 วันแล้วยังไม่ได้รับเงินจากการขายข้าวในราคาประกันเลย และต่อมาสมัยนายกอภิสิทธิ์ ปัญหาการประกันราคาข้าวก็ยังไม่ลงตัวอีก จึงมีการประชุม ครม.เห็นชอบราคารับประกันข้าว ฤดูกาลผลิต 2553/2554 ในอัตรา คือ ตันละ 1 หมื่นบาท ขณะที่ชาวนาทั่วประเทศเตรียมเดินเท้าเข้ากรุงเทพ เรียกร้องให้เพิ่มราคาประกันเป็นตันละ 1.4 หมื่นบาท เพื่อให้คุ้มกับต้นทุนที่สูงถึงไร่ละ 9 พันบาท  ครม. เห็นชอบตามมติคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ในการกำหนดราคารับประกันข้าวฤดูกาลผลิต 2553/2554 ที่ให้ยืนในอัตราเดิม คือ ข้าวหอมปทุมธานี 1 ราคารับประกันตันละ 11,000 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 10,000 บาท และข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 9,500 บาท พร้อมทั้งให้ยืนปริมาณการรับประกันไว้ที่ 25 ตันต่อครอบครัว ยกเว้นข้าวเปลือกเหนียวที่ให้เพิ่มจาก 16 ตัน เป็น 25 ตัน และยังให้คำนวณผลผลิตต่อไร่เป็นรายจังหวัดเหมือนเดิม มติ ครม. ดังกล่าวได้สร้างความไม่พอใจให้กับชาวนาทั่วประเทศที่  ได้ยื่น ข้อเสนอให้เพิ่มราคาประกันข้าวเปลือกเจ้าเป็นตันละ 14,000 บาท 
        โดยนายวิเชียร พวงลำเจียก อุปนายกสมาคมชาวนาไทย บอกว่า ปัจจุบันต้นทุนการผลิตต่อไร่สูงถึง 6,000 บาท ซึ่งข้าว 1 ตันต้องใช้นา 1.2 ไร่ ซึ่งเท่ากับต้นทุนต่อตันจะสูงถึง 9,000 บาท ขณะที่รัฐบาลประกาศราคาอ้างอิงที่ 8,500 บาท และเมื่อชาวนาเอาข้าวไปขายจริงได้เพียงตันละ 7,000 บาทเท่านั้น เนื่องจากต้องมีการตัดเปอร์เซ็นต์ความชื่น ซึ่งปัจจุบันเป็นการเก็บเกี่ยวข้าวสด ความชื้นเฉลี่ยจะอยู่ที่ 25 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ความชื้นที่รัฐบาลกำหนดราคารับประกันอยู่ที่ 15 เปอร์เซ็นต์แล้วเมื่อไหร่ละ ชาวนาไทยจะพ้นวังวนนี้เสียที เราก็หวังว่า การจำนำราคาข้าว ในยุคสมัยรัฐบาลพรรคเพือไทย น่าจะดีกว่าเพราะเห็นช่องโหว่ของปัญหาแล้ว

 

ชาวนาไทย 30 ปี แนวรบไม่เคยเปลี่ยน

ปราโมทย์ วานิชานนท์ ที่ปรึกษาสมาคมชาวนาไทย
           คำกล่าวที่ว่า “ทุกข์ของชาวนา คือ ทุกข์ของแผ่นดิน” ….และ… “การพัฒนาข้าว และชาวนาต้องเอาชาวนาเป็นศูนย์กลาง” เป็นคำพูดที่ไพเราะ และดูหรู ที่ออกมาจากลมปากของนักการเมือง และชนชั้นปกครองคนแล้วคนเล่า ยุคแล้วยุคเล่า  ซึ่งผ่านมาแล้วก็ผ่านไป เราจึงพบว่าตลอดระยะเวลา 30 ปี  ปัญหาของข้าวและชาวนาไทยยังคงถูกปล่อยปะละเลยให้เป็นไปตามยถากรรม วนเวียนอยู่ในวงจรเก่า ๆ ที่ถูกนักการเมืองหยิบยกขึ้นมาใช้ประโยชน์ในทางการเมือง ชั่วครั้งชั่วคราว โดยไม่ได้มีจิตสำนึกอย่างแท้จริงต่อการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาของชาวนาไทย ภาพที่ลวงตาเราอยู่ ณ ปัจจุบันนี้ก็คือ ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ  1 ของโลกมากว่า 20 ปี ด้วยปริมาณสูงสุด 9.7 ล้านตันข้าวสาร นำเงินตราต่างประเทศเข้ามาถึงปีละ 104,000 ล้านบาท เมื่อรวมกับมูลค่าการค้าข้าวภายในประเทศก็จะมีมูลค่ารวมปีละกว่า 200,000 ล้านบาท พร้อมทั้งชื่อเสียงข้าวหอมมะลิของไทยที่มีเอกลักษณ์เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก เมื่อผู้ที่นำตัวเลขนี้ไปกล่าวอ้างก็ได้รับคำชื่นชมยินดีว่าเป็นผลงาน แต่เบื้องหลังนั้นเกิดจากหยาดเหงื่อและพลัง 2 มือของชาวนาไทย 4.7 ล้านครอบครัว ที่ได้สร้างคุณูปการทั้งหลายทั้งปวง  จนกระทั่งเป็นที่มาของข้าวประเทศไทย แต่ความจริงที่เจ็บปวดก็คือ ชาวนาไทยกว่าร้อยละ 90 ยังคงด้อยโอกาสและยากจน ด้วยเหตุที่ขาดการพัฒนาอย่างจริงจังจากรัฐบาล
         ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี ที่ผ่านมา กล่าวได้ว่า ทุกพรรคการเมืองที่มีอยู่ในประเทศไทยขณะนี้ ได้มีโอกาสเข้ามาเป็นรัฐบาลบริหารประเทศ ได้มีโอกาสที่จะแก้ไขปัญหาข้าวและชาวนา แต่สิ่งที่นักการเมืองจะทำเหมือนกันหมดก็คือ ลืมคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ต่อเกษตรกรชาวนาเมื่อตอนหาเสียง การช่วยเหลือชาวนาก็มีเพียงมาตรการในการจำนำข้าว เพื่อให้ชาวนาพึงพอใจในราคาข้าวเปลือก แต่ไม่เคยมีนโยบายที่จะพัฒนาชาวนาและข้าวของประเทศอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ชาวนามีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน รวมทั้งพัฒนาอุตสาหกรรมข้าวของประเทศให้มีศักยภาพในการแข่งขัน  เราพบเหตุผลว่า ทำไมนักการเมืองจึงชอบให้มีโครงการจำนำและแทรกแซงของรัฐบาล ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่ก็ทำต่อเนื่องกันมาทุกปีและทุกรัฐบาล คำตอบก็คือ จะใช้เป็นข้ออ้างต่อสาธารณชนว่ารัฐบาลได้ช่วยชาวนาแล้ว แต่ภายใต้โครงการจำนำข้าวกลับเต็มไปด้วยวงจรอุบาทว์ของการทุจริตและคอรัปชั่นอย่างเป็นขบวนการ  และในการขายข้าวในโกดังของรัฐบาลก็จะมีข่าวคาวของรัฐมนตรี 2 เหรียญ, 5 เหรียญ  รวมทั้งการขายข้าวที่นำทรัพย์สินของหลวงไปเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทพวกพ้อง จนเป็นที่อื้อฉาวในหน้าหนังสือพิมพ์และเป็นประเด็นในการอภิปรายในสภา ทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่โครงการจำนำข้าวนับจากปี 2542 – 2546 รัฐจะขาดทุนสะสมกว่า 17,000 ล้านบาท และยังจะต้องขาดทุนอีกต่อไป ตราบใดที่ยังมองเรื่องข้าวว่าเป็นแหล่งที่จะมาแสวงหาประโยชน์ได้ง่าย ๆ โดยใช้การช่วยเหลือชาวนามาเป็นข้ออ้างบังหน้า
        การที่ประเทศชาติต้องเสียเงินนับหมื่นล้าน โดยที่ชาวนาไม่ได้รับการพัฒนา จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง และแต่ละปีที่ผ่านไปเราก็สูญเสียโอกาสในการพัฒนา เราพบความจริงเพิ่มขึ้นว่า ทุกวันนี้ชาวนาโดยเฉพาะชาวนาที่ทำนาปรัง (ทำนาปีละ 2-3 ครั้ง) เกิดโรคเสพติดกับโครงการจำนำ มุ่งแต่ปลูกข้าวโดยเอาปริมาณไม่ได้คำนึงถึงคุณภาพของข้าว ต้นทุนการปลูกข้าวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันชาวนากลับอ่อนแอลง เราพบต่อไปว่า ชาวนาภาคอีสานที่ทำนาปี ปลูกข้าวหอมมะลิ แม้รัฐบาลจะเพิ่มราคาข้าวในโครงการจำนำให้ชาวนาถึงตันละ 10,000 บาท ในช่วงก่อนการเลือกตั้งทั่วไปของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (6 มกราคม 2548) เมื่อคำนวณเป็นรายได้ของครอบครัวแล้ว จะมีรายได้สุทธิเพียงเดือนละ 1,200 บาท ต่อครอบครัว (4 คน) ต่อเดือนเท่านั้น ยังต่ำกว่าเส้นความยากจนของคนไทยที่สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประกาศ อยู่ที่ 1,674 บาท ต่อคน ต่อเดือน
        ดังนั้นการที่รัฐบาลมีแนวคิดว่าได้ช่วยเหลือชาวนาด้วยการซื้อข้าวเปลือกหอมมะลิในราคาตันละ 10,000 บาท ก็น่าจะหมดภาระรัฐบาลแล้วนั้น ตัวเลขรายได้ของครอบครัวชาวนาภาคอีสานก็จะเป็นภาพที่ฟ้องว่า ทุกข์ของชาวนายังคงเป็นทุกข์ของแผ่นดินต่อไป อย่างไม่มีวันสิ้นสุด
        วันนี้ แนวรบของชาวนาต้องเปลี่ยนแปลง เหตุเพราะเราไม่มีการพัฒนาอย่างมียุทธศาสตร์มากว่า 10 ปีแล้ว  ทำให้อุตสาหกรรมข้าวของประเทศอ่อนแอลงทุกวัน ชาวนาเองก็ไม่มีโอกาสพัฒนาอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง องค์กรชาวนาไม่ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนให้สามารถเป็นองค์กรที่เป็นที่พึ่งของชาวนาทั่วประเทศได้ ภาพโดยรวมของชาวนาก็อ่อนแอ การกำหนดยุทธศาสตร์ข้าวแห่งชาติ ประการหนึ่ง การกล่าวว่า จะต้องให้ชาวนาเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาอีกประการหนึ่ง ก็จะกลายเป็นเรื่องของแนวคิดเชิงระบบอุปถัมภ์  และเชิงประชาสงเคราะห์แบบเดิม ๆ ที่รัฐคอยคิดแทน ทำแทนประชาชนอยู่ตลอดเวลา
        ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดข้อตำหนิดังกล่าว การเปิดโอกาสให้ชาวนาได้มีส่วนร่วมในการกำหนดยุทธศาสตร์ข้าว  และการกำหนดวิถีชีวิตของชาวนาด้วยตนเอง ทำให้ชาวนาได้มีส่วนร่วมคิดร่วมทำ อันเป็นการสร้างชาวนาให้เข้มแข็ง เพื่อที่ชาวนาจะได้ยืนด้วยลำแข้งของตนเอง ไม่ตกเป็นเหยื่อของกระแสทุนนิยม และการบริโภคนิยม และด้วยทิศทางของการพัฒนาที่ถูกต้องนี้ จึงจะนับเป็นชัยชนะของชาวนา และชัยชนะของประเทศชาติอย่างแท้จริง

 

ทุกข์ของชาวนาในบทกวี

ทุกข์ของชาวนาในบทกวี
          ทุกข์ของชาวนาในบทกวี  เป็นบทความพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี  ที่แสดงให้เห็นถึงการเอาพระทัยใส่ความเข้าพระทัยในปัญหาต่าง ๆ ตลอดจนพระเมตตาของพระองค์ที่ทรงมีต่อชาวนา  เนื่องด้วยชาวนาแต่ละท้องที่ล้วนมีสภาพชีวิตและความทุกข์ยากที่ไม่แตกต่างกันเลย  แม้ว่ากาลเวลาจะผันผ่านไปอย่างไรก็ตาม

ผู้แต่ง
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี 
ลักษณะคำประพันธ์
ร้อยแก้ว  ประเภทบทความ
จุดมุ่งหมายในการแต่ง
เพื่อแสดงพระราชดำริเกี่ยวกับบทกวีของไทยและบทกวีจีน
ซึ่งกล่าวถึงชีวิตและความทุกข์ของชาวนา
ความเป็นมา
ทุกข์ของชาวนาในบทกวี  มีที่มาจากหนังสือรวมบทพระราชนิพนธ์
ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี  เรื่อง  มณีพลอยร้อยแสง
ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้จัดพิมพ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2533  ในวโรกาสที่พระองค์
ทรงเจริญพระชนมายุครบ 3 รอบ  โดยนิสิตคณะอักษรศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  รุ่นที่ 41
พระราชนิพนธ์นั้นแสดงให้เห็นแนวพระราชดำริเกี่ยวกับบทกวีของไทยและจีนที่กล่าวถึงชีวิต
และความทุกข์ของชาวนาที่มีสภาพชีวิตไม่ได้แตกต่างกันนัก

                                                            “เปิบข้าวทุกคราวคำ                     จงสูจำเป็นอาจิณ
                                                       เหงื่อกูที่สูกิน                                      จึงก่อเกิดมาเป็นคน
                                                           ข้าวนี้น่ะมีรส                                   ให้ชนชิมทุกชั้นชน
                                                       เบื้องหลังสิทุกข์ทน                            และขมขื่นจนเขียวคาว
                                                           จากแรงมาเป็นรวง                          ระยะทางนั้นเหยียดยาว
                                                       จากกรวงเป็นเม็ดพราว                        ส่วนทุกข์ยากลำเค็ญเข็ญ
                                                           เหงื่อหยดสักกี่หยาด                       ทุกหยดหยาดล้วนยากเย็น
                                                       ปูดโปนกี่เส้นเอ็น                                 จึงแปรรวงมาเปิบกิน
                                                           น้ำเหงื่อที่เรื่อแดง                            และน้ำแรงอันหลั่งริน
                                                       สายเลือดกูท้งสิ้น                                ที่สูชดกำชาบฟัน”

เรื่องย่อ
          เนื้อความในตอนแรกของบทความเรื่อง  ทุกข์ของชาวนาในบทกวี  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี  ได้ทรงยกบทกวีของจิตร  ภูมิศักดิ์  ซึ่งได้กล่าวถึงชีวิตและความทุกข์ยากของชาวนา
          ต่อมาทรงแปลบทกวีจีนของหลี่เชินเป็นภาษาไทยทำให้มองเห็นภาพของชาวนาจีน  เมื่อเปรียบเทียบกับชาวนาไทยว่า  มิได้มีความแตกต่างกัน  แม้ในฤดูกาลเพาะปลูก  ภูมิอากาศจะเอื้ออำนวยให้พืชพันธุ์ธัญญาหารบริบูรณ์ดี  แต่ผลผลิตไม่ได้ตกเป็นของผู้ผลิต  คือ  ชาวนาเท่าที่ควร  ส่วนที่สำคัญที่สุดคือ  ทรงชี้ให้เห็นว่าแม้จิตร  ภูมิศักดิ์และหลี่เชินจะมีกลวิธีการนำเสนอความทุกข์ยากของชาวนา  และทำให้เห็นว่าชาวนาในทุกแห่งและทุกยุคทุกสมัยล้วนประสบแต่ความทุกข์ยากไม่แตกต่างกันเลย

เนื้อเรื่อง
          ทุกข์ของชาวนาในบทกวี
               เมื่อครั้งเป็นนิสิต  ข้าพเจ้าได้เคยอ่านผลงานของจิตร  ภูมิศักดิ์  อยู่บ้าง  แต่ก็ไม่ได้ศึกษาอย่างละเอียด  หรือวิเคราะห์อะไร  เพียงแต่ได้ยินคำเล่าลือว่าเขาเป็นคนที่ค้นคว้าวิชาการได้กว้างขวางและลึกซึ้งถี่ถ้วน  ในสมัยที่เราเรียนหนังสือกัน  ได้มีผู้นำบทกวีของจิตรมาใส่ทำนองร้องกัน  ฟังติดหูมาจนถึงวันนี้

                                                            เปิบข้าวทุกคราวคำ                      จงสูจำเป็นอาจิณ
                                                       เหงื่อกูที่สูกิน                                      จึงก่อเกิดมาเป็นคน
                                                           ข้าวนี้น่ะมีรส                                   ให้ชนชิมทุกชั้นชน
                                                       เบื้องหลังสิทุกข์ทน                            และขมขื่นจนเขียวคาว
                                                           จากแรงมาเป็นรวง                          ระยะทางนั้นเหยียดยาว
                                                       จากกรวงเป็นเม็ดพราว                        ส่วนทุกข์ยากลำเค็ญเข็ญ
                                                           เหงื่อหยดสักกี่หยาด                       ทุกหยดหยาดล้วนยากเย็น
                                                       ปูดโปนกี่เส้นเอ็น                                 จึงแปรรวงมาเปิบกิน
                                                           น้ำเหงื่อที่เรื่อแดง                            และน้ำแรงอันหลั่งริน
                                                       สายเลือดกูท้งสิ้น                                ที่สูชดกำชาบฟัน

               ดูสรรพนามที่ใช้ว่า  “กู”  ในบทกวีนี้  แสดงว่าผู้ที่พูดคือชาวนา  ชวนให้คิดว่าเรื่องจริง ๆ นั้น  ชาวนาจะมีโอกาสไหมที่จะ “ลำเลิก”  กับใคร ๆ ว่า  ถ้าไม่มีคนที่คอยเหนื่อยยากตรากตรำอย่างพวกเขา  คนอื่น ๆ จะเอาอะไรกิน  อย่าว่าแต่การลำเลิกทวงบุญคุณเลย  ความช่วยเหลือที่สังคมมีต่อคนกลุ่มนี้ในด้ายของปัจจัยในการผลิต  การพยุงหรือประกันราคา  และการรักษาความยุติธรรมทั้งปวงก็ยังแทบจะเป็นไปไม่ได้  ทำให้ในหลาย ๆ ประเทศที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจ  ชาวนาต่างก็ละทิ้งอาชีพเกษตรกรรมไปอยู่ในภาคอุตสาหกรรมหรือภาคบริการ  ซึ่งทำให้ตนมีรายได้สูงกว่าหรือได้เงินเร็วกว่า  แน่นอนกว่า  มีสวัสดิการดีกว่าและไม่ต้องเสี่ยงมากเท่าการเป็นชาวนา  บางคนที่ยังคงอยู่ในภาคเกษตรกรรมก็มักจะนิยมเปลี่ยนพืชที่ปลูกจากธัญพืชซึ่งมักจะได้ราคาต่ำ  เพราะรัฐบาลก็มีความจำเป็นที่จะต้องควบคุมราคามาเป็นพืชเศรษฐกิจประเภทอื่นที่ราคาสูงกว่า  แต่ก็ยังมีชาวนาอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่มีทางที่จะขยับขยายตัวให้อยู่ในสถานะที่ดีขึ้นได้  อาจแย่ลงด้วยซ้ำ  แล้วก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะอิธรณ์ฎีกากับใคร  ถึงจะมีคนแบบจิตรที่พยายามใช้จินตนาการสะท้อนความในใจออกมาสะกิดใจคนอื่นบ้าง  แต่ปัญหาก็ยังไม่หมดไป

               หลายปีมาแล้วข้าพเจ้าอ่านพบบทกวีจีนบทหนึ่ง  ผู้แต่งชื่อหลี่เชิน  ชาวเมืองอู่ซี  มีชีวิตอยู่ในระหว่างปี ค.ศ. 772 ถึง 846  สมัยราชวงศ์ถัง  ท่านหลี่เชินได้บรรยายความในใจไว้เป็นบทกวีภาษาจีน  ข้าพเจ้าจะพยายามแปลด้วยภาษาที่ขรุขระไม่เป็นวรรณศิลป์เหมือนบทกวีของ  จิตร ภูมิศักดิ์

                                                       หว่านข้าวในฤดูใบไม้ผลิ  ข้าวเมล็ดหนึ่ง
                                                       จะกลายเป็นหมื่นเมล็ดในฤดูใบไม้ร่วง
                                                       รอบข้างไม่มีนาที่ไหนทิ้งว่าง
                                                       แต่ชาวนาก็ยังอดตาย
                                                       ตอนอาทิตย์เที่ยงวัน  ชาวนายังพรวนดิน
                                                       เหงื่อหยดบนดินภายใต้ต้นข้าว
                                                       ใครจะรู้บ้างว่าในจานใบนั้น
                                                       ข้าวแต่ละเม็ดคือความยากแค้นแสนสาหัส

               กวีผู้นี้รับราชการมีตำแหน่งเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่นอยู่ในชนบท  ฉะนั้นเป็นไปได้ที่เขาจะได้เห็นความเป็นอยู่ของราษฎรชาวไร่ชาวนาในยุคนั้น  และเกิดความสะเทือนใจจึงได้บรรยายความรู้สึกออกเป็นบทกวีที่เขาให้ชื่อว่า  “ประเพณีดั้งเดิม”  บทกวีของหลี่เชินเรียบ ๆ ง่าย ๆ แต่ก็แสดงความขัดแย้งชัดเจน  แม้ว่าในฤดูกาลนั้นภูมิอากาศจะอำนวยให้พืชพันธุ์ธัญญาหารบริบูรณ์ดี  แต่ผลผลิตไม่ได้ตกเป็นประโยชน์ของผู้ผลิตเท่าที่ควร
               เทคนิคในการเขียนของหลี่เชินกับจิตรต่างกัน  คือ  หลี่เชินบรรยายภาพที่เห็นเหมือนจิตรกรวาดภาพให้คนชม  ส่วนจิตรใช้วิธีเสมือนกับนำชาวนามาบรรยายเรื่องของตนให้ผู้อ่านฟังด้วยตนเอง
               เวลานี้สภาพบ้านเมืองก็เปลี่ยนไป  ตั้งแต่สมัยหลี่เชินเมื่อพันปีกว่า  สมัยจิตร  ภูมิศักดิ์เมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว  สมัยที่ข้าพเจ้าได้เห็นเองก็ไม่มีอะไรแตกต่างกันนัก  ฉะนั้นก่อนที่ทุกคนจะหันไปกินอาหารเม็ดเหมือนนักบินอวกาศ  เรื่องความทุกข์ของชาวนาก็ยังคงจะเป็นแรงสร้างความสะเทือนใจให้แก่กวียุคคอมพิวเตอร์สืบต่อไป

คำศัพท์
          กำซาบ                             ซึมเข้าไป
          เขียวคาว                           สีเขียวของข้าว  ซึ่งน่าจะหอมสดชื่นกลับมีกลิ่นเหม็นคาว  เพราะข้าวนี้เกิดจากหยาดเหงื่อ  ซึ่งแสดงถึงความทุกข์ยากและความชมชื่นของชาวนา
          จิตร ภูมิศักดิ์                      นักเขียนชื่อดังของไทยในช่วง พ.ศ. 2473 – 2509  ที่มีผลงานสำคัญในด้านประวัติศาสตร์  โบราณคดี  ภาษา  และวรรณคดี
          จำนำพืชผลเกษตร             การนำผลผลิตทางการเกษตร  เช่น  ข้าวไปฝากกับหน่วยงานที่รับฝากไว้ก่อนเพื่อเอาเงินในอนาคตมาใช้ก่อน
          ฎีกา                                   คำร้องทุกข์  การร้องทุกข์
          ธัญพืช                               มาจากภาษาบาลีว่า  ธญฺญพืช  เช่น  ข้าว  ข้าวสาลี  ข้าวโพด  ที่ให้เมล็ดเป็นอาหารหลัก
          นิสิต                                  ผู้ที่ศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัย
          ประกันราคา                       การที่รัฐ  เอกชน  หรือองค์กรต่าง ๆ รับประกันที่จะรับซื้อผลผลิตตามราคาที่กำหนดไว้ในอนาคต  ไม่ว่าราคาในอนาคตจะเปลี่ยนแปลงไปก็ตาม
          เปิบ                                   หรือ  เปิบข้าว  หมายถึง  วิธีการใช้ปลายนิ้วขยุ้มข้าวใส่ปากตนเอง
          พืชเศรษฐกิจ                     พืชที่สามารถขายได้ราคาดี  พืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย  เช่น  ข้าว  ยางพารา  อ้อย  ปาล์มน้ำมัน
          ภาคบริการ                        อาชีพที่ให้บริการผู้อื่น  เช่น  พนักงานในร้านอาหาร  ช่างเสริมสวย
          ลำเลิก                              กล่าวทวงบุญคุณ  กล่าวคำตัดพ้อต่อว่า  โดยยกเอาความดีที่ตนทำไว้ให้แก่อีกฝ่ายหนึ่ง  เพื่อให้สำนึกบุญคุณที่ตนมีอยู่กับผู้นั้น
          วรรณศิลป์                         ศิลปะในการประพันธ์หนังสือ
          สวัสดิการ                          การให้สิ่งที่เอื้ออำนวยให้ผู้ทำงานมีชีวิตและสภาพความเป็นอยู่ที่ดีและมีความสะดวกสบาย  เช่น  มีสถานพยาบาล  มีที่พักอาศัย  จัดรถรับส่ง
          สู                                       สรรพนามบุรุษที่ 2  เป็นคำโบราณ
          อาจิณ                               ประจำ
          อุทธรณ์                             ร้องเรียน  ร้องทุกข์

วิเคราะห์คุณค่าวรรณคดี
          คุณค่าด้านเนื้อหา
          กลวิธีการแต่ง  ทุกข์ของชาวนาในบทกวี  นับเป็นตัวอย่างอันดีของบทความที่สามารถยึดถือเป็นแบบอย่างได้  ด้วยแสดงให้เห็นแนวความคิดชัดเจน  ลำดับเรื่องราวเข้าใจง่าย  และมีส่วนประกอบของงานเขียนประเภทบทความอย่างครบถ้วน  คือ
          ส่วนนำ  กล่าวถึงบทกวีของจิตร  ภูมิศักดิ์  ที่ทรงได้ยินได้ฟังมาในอดีตมาประกอบในการเขียนบทความ
          เนื้อเรื่อง  วิจารณ์เกี่ยวกับกลวิธีการนำเสนอบทกวีของจิตร ภูมิศักดิ์  และองหลี่เชิน  โดยทรงยกเหตุผลต่าง ๆ และทรงแสดงทัศนะประกอบ  เช่น
          “…ชวนให้คิดว่าเรื่องจริง ๆ นั้น  ชาวนาจะมีโอกาสไหมที่จะ “ลำเลิก”  กับใคร ๆ ว่าถ้าไม่มีคนที่คอยเหนื่อยยากตรากตรำอย่างพวกเขา  คนอื่น ๆ จะเอาอะไรกิน…”
          ส่วนสรุป  สรุปความเพียงสั้น ๆ แต่ลึกซึ้ง  ด้วยการตอกย้ำเรื่องความทุกข์ยากของชาวนา  ไม่ว่ายุคสมัยใดก็เกิดปัญหาเช่นนี้  ดังความที่ว่า
          “ฉะนั้นก่อนที่ทุกคนจะหันไปกินอาหารเม็ดเหมือนนักบินอวกาศ  เรื่องความทุกข์ของชาวนาก็คงยังจะเป็นแรงสร้างความสะเทือนใจให้แก่กวียุคคอมพิวเตอร์สืบต่อไป…”
          สำหรับกลวิธีการอธิบายนั้นให้ความรู้เชิงวรรณคดีเปรียบเทียบแก่ผู้อ่าน  โดยทรงใช้การเปรียบเทียบการนำเสนอของบทกวีไทยและบทกวีจีน  ว่า
          “เทคนิคในการเขียนของหลี่เชินกับของจิตรต่างกัน  คือ  หลี่เชินบรรยายภาพที่เห็นเหมือนจิตรกรวาดภาพให้คนชม  ส่วนจิตรใช้วิธีเสมือนกับนำชาวนามาบรรยายเรื่องของตนให้ผู้อ่านฟังด้วยตนเอง”

                                                       หว่านข้าวในฤดูใบไม้ผลิ  ข้าวเมล็ดหนึ่ง
                                                       จะกลายเป็นหมื่นเมล็ดในฤดูใบไม้ร่วง
                                                       รอบข้างไม่มีนาที่ไหนทิ้งว่าง
                                                       แต่ชาวนาก็ยังอดตาย
                                                       ตอนอาทิตย์เที่ยงวัน  ชาวนายังพรวนดิน
                                                       เหงื่อหยดบนดินภายใต้ต้นข้าว
                                                       ใครจะรู้บ้างว่าในจานใบนั้น
                                                       ข้าวแต่ละเม็ดคือความยากแค้นแสนสาหัส

                                                            เปิบข้าวทุกคราวคำ                      จงสูจำเป็นอาจิณ
                                                       เหงื่อกูที่สูกิน                                      จึงก่อเกิดมาเป็นคน
                                                           ข้าวนี้น่ะมีรส                                   ให้ชนชิมทุกชั้นชน
                                                       เบื้องหลังสิทุกข์ทน                            และขมขื่นจนเขียวคาว
                                                           จากแรงมาเป็นรวง                          ระยะทางนั้นเหยียดยาว
                                                       จากกรวงเป็นเม็ดพราว                        ส่วนทุกข์ยากลำเค็ญเข็ญ
                                                           เหงื่อหยดสักกี่หยาด                       ทุกหยดหยาดล้วนยากเย็น
                                                       ปูดโปนกี่เส้นเอ็น                                 จึงแปรรวงมาเปิบกิน
                                                           น้ำเหงื่อที่เรื่อแดง                            และน้ำแรงอันหลั่งริน
                                                       สายเลือดกูท้งสิ้น                                ที่สูชดกำชาบฟัน

          บทกวีของหลี่เชินเป็นบทกวีที่เรียบง่าย  แต่แสดงความขัดแย้งอย่างชัดเจน  คือ  แม้ว่าในฤดูกาลเพาะปลูก  ภูมิอากาศจะเอื้ออำนวยให้พืชพันธุ์ธัญญาหารบริบูรณ์ดี  แต่ผลผลิตไม่ได้ตกเป็นของผู้ผลิต  คือ  ชาวนาหรือเกษตรกรเท่าที่ควร  หลี่เชินบรรยายภาพที่เห็นเหมือนจิตรกรวาดภาพให้คนชม  ส่วนจิตร ภูมิศักดิ์  ใช้กลวิธีการบรรยายเสมือนว่าชาวนาเป็นผู้บรรยายเรื่องราวให้ผู้อ่านฟังด้วยตนเอง  อย่างไรก็ตามแนวคิดของกวีทั้งสองคนคล้ายคลึงกัน  คือ  ต้องการสื่อให้ผู้อ่านได้เห็นว่าสภาพชีวิตชาวนาในทุกแห่งและทุกสมัยต้องประสบกับความทุกข์ยากไม่แตกต่างกัน
          สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี  ได้ทรงเริ่มต้นด้วยการยกบทกวีของจิตร ภูมิศักดิ์  ซึ่งแต่งด้วยกาพย์ยานี 11 จำนวน 5 บท  มีเนื้อหาเกี่ยวกับความยากลำบากของชาวนาที่ปลูกข้าวซึ่งเป็นอาหารสำคัญของคนทุกชนชั้น  พระองค์ทรงเห็นด้วยกับบทกวีนี้และยังทรงกล่าวอีกว่าเนื้อหาบทกวีของจิตร ภูมิศักดิ์  สอดคล้องกับบทวีของหลี่เชิน กวีชาวจีนที่แต่งไว้ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง  แสดงให้เห็นว่าสภาพชีวิตองชาวนาไม่ว่าที่แห่งใดในโลกจะเป็นไทยหรือจีน  จะเป็นสมัยใดก็ตาม  ล้วนแล้วแต่มีความยากแค้นลำเค็ญเช่นเดียวกัน
          ดังนั้นแนวคิดสำคัญของบทความพระราชนิพนธ์เรื่อง  ทุกข์ของชาวนาในบทกวี  จึงอยู่ที่ความทุกข์ยากของชาวนา  และสภาพชีวิตของชาวนาที่ถูกเอารัดเอาเปรียบอยู่เสมอดังความที่ว่า
          “…แม้ว่าในฤดูกาลนั้นภูมิอากาศจะอำนวยให้ให้พืชพันธุ์ธัญญาหารบริบูรณ์ดี  แต่ผลผลิตไม่ได้ตกเป็นประโยชน์ของผู้ผลิตเท่าที่ควร…”
          แม้ว่าในบทความนี้จะไม่ได้มีการเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหา  แต่แนวคิดของเรื่องที่แจ่มแจ้งและชัดเจนดังที่กล่าวมาจะมีผลให้สังคมหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ประจักษ์และตระหนักถึงความสำคัญของชาวนา  และเล็งเห็นปัญหาต่าง ๆ อันอาจจะนำไปสู่การแสวงหาหนทางแก้ไขในท้ายที่สุด

          พระราชนิพนธ์  เรื่อง  ทุกข์ของชาวนาในบทกวี  แสดงให้เห็นถึงความเข้าพระทัยและเอาพระทัยใส่ในปัญหาการดำรงชีวิตของชาวนาไทย  ทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงพระเมตตา  อันเปี่ยมล้นของพระองค์ที่ทรงมีต่อชาวนาผู้มีอาชีพปลูกข้าวเป็นหลัก  เริ่มชีวิตและการทำงานตั้งแต่เช้าจรดค่ำ  ทำงานแบบหลังสู้ฟ้า  หน้าสู้ดิน  ตลอดทั้งปี  ดังนั้นในฐานะผู้บริโภค  จึงควรสำนึกในคุณค่าและความหมายของชาวนาที่ปลูก “ข้าว” อันเป็นอาหารหลักเพื่อการมีชีวิตอยู่รอดของคนไทย

ที่มาและได้รับอนุญาตจาก :
บุญลักษณ์ เอี่ยมสำองค์ เกื้อกมล พฤกษประมูล และโสภิต พิทักษ์. ภาษาไทย วรรณคดีและวรรณกรรม ม.4. พิมพ์ครั้งที่ 1.  กรุงเทพฯ : อักษรเจริญทัศน์.

 

บทวิเคราะห์ : ปัญหาของชาวนาไทย

          จากปัญหาการช่วงชิงทางการตลาดการแข่งขันที่รุนแรงของตลาดข้าว รวมถึงปัญหาด้านการวิจัยพัฒนาในประเทศไทย ซึ่งส่งผลไม่น้อยต่อภาคการผลิตและการส่งออกของไทย (ติดตามอ่านได้ใน บทวิเคราะห์ : อุปสรรคของข้าวไทย) แต่นอกจากปัจจัยดังกล่าว อุปสรรคสำคัญที่สุดต่อกระบวนการพัฒนาข้าวและการส่งออกของไทย มาจากปัจจัยภายในประเทศเอง นั่นคือปัญหาของชาวนาไทย อย่างเมื่อวันที่ 26 มกราคม ที่ผ่านมา กลุ่มเครือข่ายหนี้สินชาวนาฯ จำนวนหลายร้อยคนได้เคลื่อนขบวนมาชุมนุมปิด ถ.พิษณุโลก ด้านหน้าทำเนียบรัฐบาล พร้อมเรียกร้องขอพบนายกรัฐมนตรีเพื่อให้ช่วยรับซื้อหนี้และขยายเวลาการผ่อนชำระหนี้ออกไป รวมถึงแก้ปัญหาที่ดินทำกินที่ติดจำนองกับสถาบันการเงิน นี่เป็นปัญหาที่สะท้อนได้ถึงชีวิตความเป็นอยู่ของชาวนาไทย
          มีการมองว่าการพัฒนาภาคการผลิตทั้งหมดจะสำเร็จหรือไม่อยู่ที่การพัฒนาชาวนา แต่ปัจจุบันยังคงพบว่าเกษตรกรผู้ปลูกข้าวไทยนอกจากต้องเผชิญกับภาวะราคาข้าวตกต่ำ ยังต้องเผชิญกับการถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง รวมถึงข้อเรียกร้องความไม่เป็นธรรมของราคาข้าวบ่อยครั้ง ทำให้เกษตรกรจำนวนไม่น้อยไม่สามารถหลุดพ้นจากภาระหนี้สิน…. มีการสำรวจพื้นที่ทำนาพบว่า ชาวนามีพื้นที่ทำนาเฉลี่ย 15 ไร่ ต่อครัวเรือน แต่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เช่าทำนา ซึ่งหากเทียบสัดส่วนพบว่าชาวนาที่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเองมีจำนวนน้อยมาก ขณะที่ชาวนาถือเป็นเกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศ และส่วนใหญ่ยากจน ทำให้อาชีพชาวนามักถูกมองว่าต่ำต้อย จนเกิดความไม่ภาคภูมิใจส่งผลให้ลูกหลานไม่นิยมสืบทอดอาชีพในที่สุด นี่คือผลพวงที่ไทยอาจต้องเผชิญในอนาคต หากการช่วยเหลือหรือสนับสนุนยังคลุมเครือเฉกเช่นในปัจจุบัน
          นายอนันต์ ดาโลดม คณะอนุกรรมมาธิการและเลขานุการคณะอนุกรรมาธิการข้าว และอดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตร มองว่า ปัจจุบันกระทรวงพาณิชย์เป็นหน่วยงานหลักที่ดูแลเรื่องของข้าวราคาข้าว และการส่งออก แต่ที่ผ่านมามีการทำงานในเชิงมุ่งเน้นด้านการส่งออกและการตลาดเชิงเดียว ขณะที่ไม่ได้มีตัวแทนของเกษตรกรเข้าไปมีส่วนร่วมมากนัก ทำให้เกษตรกรเสมือนไม่มีตัวแทนที่เป็นปากเสียงของตนในหน่วยงานของรัฐฯ ดังนั้น การหาทางออกในการดูแลช่วยเหลือเกษตรกรไทย อาจทำได้โดย
          ประการแรก แนะว่า กระทรวงพาณิชย์ไม่ควรทำงานทั้งหมดภายใต้กลไกเดียว แต่ควรต้องตั้งบอร์ดของแต่ละส่วนขึ้นมาโดยมีตัวแทนจากทุกภาคส่วนเพื่อเข้าไปดูแล คือ ข้าราชการ เกษตรกร และผู้ประกอบการ เพื่อทำให้มาตรการที่ออกมาโปร่งใส และไม่บิดเบือน บอร์ดที่คั้งขึ้นนี้อาจเป็นรูปแบบขององค์กรอิสระ ที่ทุกฝ่ายเข้ามาอย่างเท่าเทียมกัน มีข้อตกลงออกมาเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่าย มีการตรวจสอบได้ ขณะเดียวกัน
           ประการที่สอง คณะกรรมการระบายข้าวต้องไม่ใช่กระทรวงพาณิชย์แต่เพียงผู้เดียว แต่ควรมีกลไกอื่นร่วม อย่างสภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม ผู้แทนเกษตรกร ผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นต้น เข้ามามีส่วนร่วม แต่ปัจจุบันเป็นการมอบอำนาจให้กระทรวงพาณิชย์ทั้งหมด ทำให้เกิดการกระจุกอำนาจ และการแสวงหาผลประโยชน์จากมาตรการของรัฐฯ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดมาตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มี การมองว่า วิธีการนี้ จะเป็นการช่วยให้เกษตรกรไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ และสามารถช่วยเหลือด้านการกำหนดราคาข้าวได้อย่างเป็นธรรม ซึ่งในระยะยาวจะช่วยให้ความเป็นอยู่ของเกษตรกรดีขึ้น และลดภาระหนี้สินได้ แต่หากไม่มีการดำเนินการแก้ไขอย่างเข้มข้นในเรื่องนี้อาจส่งผลให้ในระยะยาว คือ พื้นที่นาข้าวลดลงจากการเปลี่ยนพื้นที่เพาะปลูกเป็นสิ่งก่อสร้าง หรือชาวนาทิ้งที่ดินเพราะภาระหนี้สิน หรือลูกหลานไม่เห็นคุณค่าของที่ดินจึงขายทิ้ง “ฉะนั้นทำอย่างไรจะให้ชาวนาดีขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดการหันหลังให้นา” นายอนันต์กล่าว
          ด้านแนวคิดจากนักวิชาการในการช่วยเหลือปัญหาหนี้สินของเกษตรกร โดยนายปราโมทย์ วานิชชานนท์ ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการข้าว กล่าวว่า รัฐบาลสามารถช่วยเหลือด้านความเป็นอยู่ของชาวนาไทยให้ดีขึ้นได้ ด้วยการอาจแบ่งเงินส่วนหนึ่งเพื่อเข้าไปช่วยเหลือเกษตรกร เช่น อาจใช้วิธีการเก็บค่าธรรมเนียมจากการส่งออก อย่างน้อยปีละ 1% และนำเงินดังกล่าว มาตั้งเป็นกองทุนวิจัยพัฒนาข้าวและชาวนาไทย โดยส่งเสริมกองทุนนี้ให้มั่นคง ซึ่งอาจมีกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตร ผู้ทรงคุณวุฒิ เกษตรกร รวมถึงองค์กรอื่นๆ เข้ามาจับมือร่วมกันเพื่อทำงานร่วมในกองทุนดังกล่าว
         นอกจากนี้มีการเสนอว่า อาจนำรายได้ส่วนหนึ่งจากการส่งออก หรือดอกเบี้ยจากการรับจำนำข้าว นี้ มาเป็นสวัสดิการชาวนา กองทุนชาวนา หรือจัดให้มีการขึ้นทะเบียนชาวนา เพื่อช่วยเหลือเมื่อชาวนามีปัญหาเจ็บไข้ได้ป่วย อยู่ในภาวะไม่สามารถทำนาได้ หรือประสบปัญหาขาดทุนจากผลผลิต ทั้งหมดนี้เพื่อให้ชาวนาได้มีหลักประกัน ได้มีที่พึ่ง เนื่องจากปัจจุบันชาวนาไม่มีหลักประกันใดๆ เลย ทั้งๆ ที่สร้างประโยชน์ให้แก่ชาติมหาศาล
          ทั้งหมดนี้จึงเป็นเสียงเรียกร้องหนึ่ง อันเป็นเสียงสะท้อนที่อยากให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการสนับสนุนผลประโยชน์ให้แก่ชาวนาอย่างแท้จริง ผ่านทางรูปแบบวิธีการต่างๆ ทั้งนี้เพราะ ประเทศไทยจะมองข้ามถึงความสำคัญของชาวนาไทยไม่ได้ เพราะถือเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการเลี้ยงปากท้องของคนทั้งประเทศ การช่วยเหลือนอกจากจะสร้างความมั่นคงและความอยู่ดีมีสุขของชาวนาไทยแล้ว ในระยะยาวยังเป็นการช่วยอนุรักษ์อาชีพที่แสดงถึงภูมิปัญญาที่สืบสานมาดังเดิม เพื่อให้ลูกหลานไทยได้เกิดความภาคภูมิใจต่อไปในอนาคต

เครดิค: พิมพิดา โยธาสมุทร เรียบเรียง
ชูชาติ เทศสีแดง บรรณาธิการ

 

กรรมของชาวนาในปีทอง

         ท่ามกลางที่ใครๆ บอกว่าปีนี้เป็นปีทองของภาคเกษตรไทยนั้น ปรากฏว่า ภาคเกษตรของไทยก็ประสบปัญหาทั้งทางธรรมชาติและศัตรูพืชไม่น้อยเหมือนกันครับ ที่เห็นกันชัดเจนตอนนี้คือเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดในนาข้าว และเพลี้ยแป้งในไร่มันสำปะหลัง และมีโรคอีกชนิดหนึ่งที่หายไปจากบ้านเรานับสิบๆ ปี ก็โผล่มาอีกครับ คือโรคใบเขียวเตี้ย และโรคใบหงิก ซึ่งตอนนี้ต้องไขลานเจ้าหน้าที่ภาครัฐใหม่ครับ เพราะต่างก็ไม่คิดว่าโรคนี้จะกลับมาอีก จึงไม่มีใครสนใจศึกษาข้อมูล ขณะที่อีกด้านหนึ่งปัญหาภัยธรรมชาติ น้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศมีปริมาณน้อยลงกว่า 2-3 ปีก่อนมาก ถึงขนาดต้องจำกัดพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังปี 2552-2553

           เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในนาข้าวกินพื้นที่ถึง 8.3 แสนไร่ ถือเป็นการระบาดหนักในรอบสิบปีทีเดียว เพราะประเทศไทยที่มีเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดหนักคือปี 2532-2533 เมื่อ 20 ปี และปี 2552-5243 ก็หนักเหมือนกัน จะเห็นได้ว่าโรคเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดหนัก 10 ปีต่อครั้ง

           ทางออกต้องกำจัดครับ คือวิธีที่ดีที่สุดต้องไถ่กลบ อย่างล่าสุดการประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ที่กรมวิชาการเกษตร เมื่อวันที่ 29 มกราคม ที่ผ่านมา ได้หยิบยกทั้งปัญหาของศัตรูพืชและเรื่องแล้ง แต่เน้นไปที่มาตรการและแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยด้านการเกษตร ในส่วนของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล โรคเขียวเตี้ย และโรคใบหงิก โดยมี ท่านธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน

           การประชุมในวันนั้น ท่านธีระบอกว่า ปัญหาพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลได้ลดปริมาณลงแล้ว เหลือ 6.7 แสนไร่ จาก 8.3 แสนไร่ ซึ่งที่เหลือค่อนระบาดรุนแรง ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ กำหนดช่วยเหลือเบื้องต้น 4 ส่วน คือ 1.ช่วยเหลือเป็นเงินสด กรณีที่เกษตรที่พบโรคระบาดอย่างรุนแรงในอัตราไร่ละ 2,065 บาทต่อไร่ รวมเป็นเงินทั้งหมด 1,863 ล้านบาท 2.เมื่อสำรวจพื้นที่แล้ว รัฐจะดำเนินการไถ่กลบในพื้นที่ระบาดทั้ง 6.7 แสนไร่ โดยมีค่าใช้จ่ายรายละ 400 บาท รวมเป็นงบประมาณ 333.2 ล้านบาท

           3.รัฐจะช่วยเหลือจัดกิจกรรมสนับสนุนผู้ที่ประสบโรคระบาด โดยฝึกอบรมอาชีพเสริมและฝึกอบรมความรู้เรื่องข้าว ตลอดจนสนับสนุนเมล็ดข้าวพันธุ์ดี ที่สามารถต้านโรคเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล รวมทั้งโรคเขียวเตี้ย และโรคใบหงิกได้ ซึ่งคิดเป็นค่าใช้จ่ายรายละ 315 ต่อไร่ และ 4.จะให้เกษตรกรพักชำระหนี้ให้แก่ ธ.ก.ส. เป็นระยะเวลา 1 ปี โดยรัฐบาลจะเป็นผู้จ่ายดอกเบี้ยให้

           นั่นแสดงให้เห็นว่า การระบาดของโรคนี้อยู่ในขั้นที่โคม่าแล้ว ทำให้ปีทองของการส่งออกสินค้าเกษตรไทยทำได้เพียงบางส่วน ในขณะที่ชาวนาจำนวนไม่น้อยที่ประสบความหายนะจากเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลครับ

 

ปัญหาของชาวนาที่เราต้องแก้ไข

ปัญหาราคาข้าว….ปัญหาที่ยั่งยืนของชาวนา
 
         จากในอดีตจนถึงปัจจุบัน ผ่านมาแล้วไม่รู้กี่รัฐบาล ปัญหาของชาวนาก็ยังไม่ไดัรับการแก้ไขอย่างจริงจัง
และยั่งยีนเสียที  เพียงได้แต่การบรรเทาโดยการรับจำนำประกันราคาข้าว เหมือนประหนึ่งแค่เป็นการบรรเทา
ราคาข้าวชั่วคราว
          ในความเป็นจริงมาตรการแก้ปัญหาราคาข้าวโดยการรับจำนำที่ผ่านก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร
 เรียกได้ว่าไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้  คืือให้ชาวนาได้ประโยชน์จากการประกันราคาข้าวมากที่สุด  และ
รัฐบาลเสียเงินส่วนต่างกับราคาขายจริงให้น้อยที่สุด  แต่ในความเป็นจริงแล้วหาได้เป็นเช่นนั้นไม่  ความจริง
ชาวนาก็ยังได้รับประโยชน์จากการประกันราคาข้าวเพียง่ได้ราคาดีขึ้นกว่าเดิมเท่านั้นเอง ในขณะที่รัฐบาลก็ยัง
คงเสียเงินส่วนต่างในราคาสูงเหมือนเดิม  คนที่ได้ประโยชน์จริง ๆ แล้วเป็นโรงสีข้าว ?  เพราะกลวิธีในการ
ทำมาหากินหลายวิธีมาก  ( เดียววันหน้าจะมาเล่าให้ฟัง ) เอาแค่ยกตััวอย่างเรื่องราคาข้าว  เรื่องจริงๆ
         สมัยรัฐบาลคุณสมัคร ราคาประกันที่ 14000 บาท/เกวียน แต่ชาวนา จำหน่ายข้าวได้ในราคา 11000
-12000 บาทเพียงเท่านั้น   บางรายไปขอจำนำกับทางโรงสี  ทางโรงสีก็ไม่รับจำนำ  บางรายเข้าคิวเพื่อจะ
จำหน่ายข้าวในราคาประกันกับโรงสีต้องเข้าคิวรอถึง  48  ชั่วโมง   ครัั้นจะไปขายกับโรงสีิอื่นที่โดยไม่ผ่าน
การประกันราคาก็ได้ราคาเพียงเกวียนละ 9000 บาท    ชาวนาบางท่านเกี่ยวข้าวขึ้นรถบรรทุกแล้วจะไปขาย
ในราคาประกันกับโรงสีที่เข้าร่วมโครงการกับรัฐบาล   ทางโรงสีก็ไม่รับโดยอ้างว่าข้าวเต็ม   จำเป็นจะต้อง
ไปขายโรงสีที่ไม่ร่วมโครงการในราคาที่แสนถูก (ถูกกว่าราคาประกันมาก)
          ต่อมาในสมัยคุณสมชายเป็นนายกฯ ก็อีกนั่นแหละครับมีโครงการประกันราคาข้าว  ในราคา 12000
บาท/เกวียน โครงการเริ่มใช้ 1 พ.ย. 51 กว่าจะขายข้าวในราคาประกันได้ก็ช่วงปลายเดือน พ.ย.  แต่ก็เอา
ละมาช้าดีกว่าไม่มา  ซึ่งในความป็นจริงชาวนาขายข้าวได้แรกๆ  ราคาอยู่ที่ 10800 บาท/เกวียน  ช่วงหลัง
ถึงปัจจุบันขายได้ราคาเพียง  9200-9600 บาท/เกวียน  ส่วนราคาที่ไม่ได้ผ่านการประกันราคาข้าว   หรือ
ไปขายโรงสีที่ไม่รับจำนำได้ราคาอยู่ที่   7000 – 7500  บาท   สำหรับปัญหาก็ไม่ได้จบเพียงแค่ราคาข้าว
อย่างเดียวอีกปัญหาหนึ่งของชาวนาเกี่ยวกับการประกันราคาข้าวของรัฐบาล  คือ  การขายข้าวให้กับโรงสี
ที่ร่วมโครงการนับตั้งแต่วันที่ขายโรงสีจะบอกชาวนาเลยว่าเป็นการฝากไว้ก่อน   ไม่รู้ว่าใบประทวนจะออก
วันไหนนั่นก็หมายถึงว่าชาวนาก็ไม่รู้ชะตากรรมว่าจะได้เงินเมื่อไหร่  ผมถามบางท่านบอกว่า 45 วันแล้วยังไม่
ได้รับเงินจากการขายข้าวในราคาประกันเลย
          วันนี้ชาวนาไทยก็คงต้องขอฝากความหวังไว้กันท่านนายกฯ อภิสิทธืิ์ ช่วยแก้ปัญหาราคาข้าวที่ยั่งยืน
และให้หลุดพ้นจากวงเวียนการแก้ปัญหาราคาข้าว ให้หลุดพ้นจากการเอารัดเอาเปรียบ และกลโกงจากโรงสี
ให้การรับประกันราคาข้าวที่มีความรวดเร็ว ผลประโยชน์จากโครงการเป็นประโยชน์กับชาวนามากทีสุด
ให้เงินภาษีของเราๆ ท่านๆ ได้ช่วยแก้ปัญหาราคาข้าวอย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล คุ้มกับการลงทุน

 
Free Web Hosting