Archive for the "ความรู้ สาระทางการเกษตร" Category

ร้อยเรียง..เรื่องเล่า..จากชาวนา

      ก่อนหน้าที่นักเรียนชาวนาจะเข้าร่วมเรียนรู้ในโรงเรียนชาวนานั้น นักเรียนชาวนาหลายต่อหลายคนทำนาโดยใช้สารเคมี ส่งผลทำให้นักเรียนชาวนาต้องซื้อสารเคมีจากตลาดร้านค้าในปีหนึ่งๆ มีมูลค่าสูง นักเรียนชาวนาต้องมีรายจ่ายเป็นต้นทุนการทำนาที่สูงขึ้นทุกปีๆ แต่ในสภาพปัจจุบัน นักเรียนชาวนาเปลี่ยนไป กระบวนทัศน์วิถีชีวิตชาวนาเปลี่ยน พร้อมๆกับพฤติกรรมการทำนาที่เปลี่ยน เปลี่ยนแล้วดีขึ้น ดีขึ้นด้วยสุขภาวะ ตัวอย่างแรกที่จะขอกล่าวถึงคือ น้าบังอร สุวรรณสูร นักเรียนชาวนาโรงเรียนชาวนาวัดดาว (ตำบลวัดดาว อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี) หลายๆคนคงจะคุ้นชื่อหรือคุ้นหน้าคุ้นตากันบ้างแล้วเมื่อกล่าวถึงโรงเรียนชาวนาวัดดาว เพราะน้าบังอรเป็นนักเรียนชาวนารุ่นแรก และเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้บุกเบิกของโรงเรียน น้าบังอรกับการทำนาด้วยกระบวนทัศน์ใหม่ นั่นคือ การทำนาลดต้นทุน และการทำนาปลอดสารเคมี กระบวนทัศน์ของการทำนาก็มีเรื่องเล่าที่เล่ากัน 7 วัน 7 คืน ก็ไม่รู้จักจบจักสิ้น เพราะด้วยแรกเริ่มในเดิมทีนั้น น้าบังอรชาวนาผู้ทำนามานานตั้งแต่สมัยเป็นเด็กแล้ว ซึ่งน้าบังอรเคยเล่าความไว้ว่า “จริงๆแล้วตนเองเกิดและเรียนในตัวเมือง แต่พ่อและแม่ได้มรดกจากปู่ย่าเป็นที่นาที่อยู่ใน ตำบลวัดดาวแห่งนี้ พ่อกับแม่ก็เข้ามาทำนาที่นี่ การทำนาจึงเป็นสิ่งที่อยู่ในสายเลือดมาตั้งแต่เด็ก หลังเรียนจบ ป.4 อายุประมาณ 10 กว่าขวบ (ปัจจุบันอายุ 53 ปี) ก็เริ่มทำนาแล้ว” สมัยก่อนที่บ้านยังทำนากันปีละครั้ง ที่เรียกกันว่าทำนาปี พอมาระยะหลังวิถีชีวิตของชาวนาตำบลวัดดาวก็เริ่มเปลี่ยนไป เมื่อทางภาครัฐเข้ามาส่งเสริมให้ชาวนาได้ผลิตข้าวให้ได้ผลผลิตมากขึ้นต่อปี โดยการเข้ามาสร้างชลประทานกักเก็บน้ำให้ชาวนามีน้ำใช้ทั้งปี ชาวนาก็เริ่มที่จะทำนานอกฤดู ที่เรียกว่าทำนาปรัง มีการสนับสนุนให้ใช้ปุ๋ยเคมี บริษัทยาฆ่าแมลงก็เข้ามาแนะนำให้ใช้ยา ชาวนาก็เริ่มใช้สารเคมีกัน โดยไม่ได้คำนึงถึงพิษภัยที่จะเกิดขึ้น พวกเรารู้อย่างเดียวว่ามันทำให้ผลผลิตสูงขึ้น มาระยะหลังร่างกายเริ่มที่จะไม่ไหว เกิดอาการบวม คันตามร่างกาย เจ็บป่วย ไปหาหมอก็พบว่าร่างกายได้รับสารเคมีมากเกินไป เพราะที่ผ่านมาใช้สารเคมีและยาฆ่าแมลงมาโดยตลอด พอร่างกายเป็นอย่างนี้ขึ้นมาก็เริ่มที่จะมีความคิดที่จะเลิกใช้ยาฆ่าแมลง จึงเริ่มที่จะคิดหาวิธีกำจัดแมลงที่เป็นศัตรูพืชด้วยสารที่เป็นธรรมชาติ โดยเอาสะเดามาหมักเพื่อเอาไว้ฉีดฆ่าแมลงศัตรูพืช ก็ได้ผลดี หลังจากนั้นก็ได้ไปอบรมการทำปุ๋ยหมักที่สระบุรี กลับมาก็ศึกษาหาวิธีนำวัตถุดิบต่างๆ มาใช้ทำน้ำหมัก และก็ได้ผลเป็นอย่างดี ตอนแรกที่เราหันมาใช้สารสะเดาฉีดพ่นฆ่าแมลงต้องแอบใช้ เพราะอายที่เราทำไม่เหมือนใคร หลังจากนั้นทางมูลนิธิขวัญข้าวก็เข้ามาช่วยสอนแนวทางการทำนาใหม่ โดยเปิดเป็นโรงเรียนชาวนา ก็รวมกลุ่มกับชาวบ้านที่สนใจรักษาสุขภาพเข้ามาเรียนกัน สิ่งที่พวกเราได้เข้ามาเรียนคือ เริ่มเข้าใจถึงพิษภัยจากสารเคมีกันมากขึ้น การใช้สารเคมีต่างๆ ในการทำนานั้น จะได้ผลผลิตต่อไร่ประมาณ 90 กว่าถัง ไปจนถึงเกวียนกว่า แต่เราใช้สารจากธรรมชาติ ก็ได้ผลผลิตต่อไร่ประมาณ 90 ถัง ซึ่งถึงจะได้ผลผลิตลดลงแต่ได้สุขภาพที่ดีมันก็คุ้ม อีกอย่างการที่ใช้ทั้งปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง ถึงได้ผลผลิตเยอะแต่ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายไปกับสารเคมีเยอะจนไม่เหลืออะไร แต่ถ้าเราใช้สารจากธรรมชาติเราสามารถลดต้นทุนลงได้ครึ่งต่อครึ่ง เดี๋ยวนี้สุขภาพดีขึ้นมาก ได้ความรู้เพิ่ม ได้รู้จักชาวบ้านมากขึ้น มีเวลาว่างไปทำอย่างอื่นมากขึ้น” น้าบังอรเคยเล่าความไว้กับสื่อหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ครั้นเมื่อทางสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) ได้นำพาคณะสื่อมวลชนมาเยี่ยมชมและทำข่าวโรงเรียนชาวนาวัดดาว เมื่อวันจันทร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2548 ที่ผ่านมา ปัจจุบัน น้าบังอรมีที่นาเป็นของตนเองและนาเช่า รวมจำนวน 25 ไร่ โดยที่เป็นแปลงนาของตนเองจำนวน 20 ไร่ ส่วนอีกจำนวน 5 ไร่ เป็นแปลงนาที่เช่าจากญาติพี่น้อง บนพื้นที่นาข้าว จำนวน 25 ไร่ การทำนาในรอบที่ผ่านมานั้น (ช่วงปลายปี พ.ศ.2547 ถึงต้นปี พ.ศ.2548) น้าบังอรแบ่งพื้นที่สำหรับปลูกข้าวพันธุ์ชัยนาท จำนวน 10 ไร่ ปลูกข้าวพันธุ์พิษณุโลก จำนวน 12 ไร่ และปลูกข้าวพันธุ์หอมสุพรรณ อีกจำนวน 3 ไร่ ซึ่งข้าวทั้ง 3 พันธุ์ที่เลือกปลูกดังกล่าวนี้เป็นข้าวเบาที่มีอายุข้าว 90 วัน หรือโดยทั่วไปเรียกกันว่าข้าว 3 เดือน สำหรับในฤดูกาลนี้ น้าบังอรหว่านข้าวจำนวน 2 ครั้ง หว่านในครั้งแรก เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2547 เอาข้าวพันธุ์ชัยนาทหว่านก่อน บนพื้นที่ 10 ไร่ ถัดมาอีกสัปดาห์หนึ่งจึงได้หว่านข้าวครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2547 ครั้งนี้เอาข้าวพันธุ์พิษณุโลกหว่านบนพื้นที่ 12 ไร่ และแยกเอาข้าวพันธุ์หอมสุพรรณหว่านต่างหากบนพื้นที่ 3 ไร่ แต่ เพราะเหตุใดน้าบังอร จึงเลือกข้าวถึง 3 พันธุ์ ? คุณบังอรให้เหตุผลเพียงแค่ประโยคสั้นๆว่า “ข้าวหอมสุพรรณปลูกไว้กินเองในบ้าน” เป็นคำตอบที่มีนัยและสื่อความหมายไว้หลายประการ หากจะหมายความว่าส่วนเกินที่เหลือนอกเหนือจาก 3 ไร่นั้นเป็นการทำนาปลูกข้าวเพื่อขาย แต่ชาวนาโดยทั่วไปในตำบลวัดดาวปลูกข้าวเพื่อขายทั้งหมด มิได้มีเป้าหมายอย่างเช่นน้าบังอรที่ตั้งใจปลูกไว้เพื่อการบริโภคภายในครัวเรือน การหว่านข้าวที่ไม่มีค่าใช้จ่ายด้านเมล็ดพันธุ์ข้าว น้าบังอรไม่จำเป็นต้องซื้อข้าวปลูก (ซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวมาทำนา) เพราะสามารถคัดเลือกและเก็บเมล็ดข้าวไว้ทำพันธุ์ได้เองในครัวเรือน (และบางส่วนได้รับการสนับสนุนจากทางมูลนิธิข้าวขวัญ) “ค่าข้าวปลูก” ที่ชาวนาทั่วไปเรียกมีความหมายว่า เป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวจากตลาดร้านค้ามาปลูกหว่าน แต่กรณีของน้าบังอรกลับไม่ได้พึ่งพาตลาด ซึ่งค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ก็สามารถลดต้นทุนการทำนาให้ได้เกือบ 5,000 บาท ต่อครั้ง (ที่ทำนา) และยังแถมมีเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพไว้ปลูกเองด้วย น้าบังอรเล่าให้ฟังว่า “เมื่อข้าวอายุได้ 20 วัน จึงได้หว่านปุ๋ยชีวภาพ หว่านในครั้งแรก พอระยะที่ต้นข้าวเจริญเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ก็ได้บำรุงต้นข้าวด้วยฮอร์โมนไข่หอยเชอรี่ โดยสามารถฉีดกับต้นข้าวหรือเทลงน้ำในนาข้าวก็ได้ จนเมื่อข้าวอายุได้ 45 วัน ก็จึงได้หว่านปุ๋ยชีวภาพอีกครั้งหนึ่ง (เป็นครั้งที่ 2) แล้วพอข้าวอายุได้ประมาณ 70 วัน ข้าวอยู่ในช่วงตั้งท้อง ก็ได้บำรุงต้นข้าวด้วยฮอร์โมนผลไม้ จนกระทั่งข้าวเริ่มออกรวง จึงได้บำรุงต้นข้าวด้วยฮอร์โมนรกหมู” ปุ๋ยชีวภาพที่น้าบังอรกล่าวถึงนี้ได้มาจากการรวมกลุ่มนักเรียนชาวนาร่วมกันผลิตปุ๋ยชีวภาพกันเอง ส่วนฮอร์โมนต่างๆ อันได้แก่ ฮอร์โมนไข่หอยเชอรี่ ฮอร์โมนผลไม้ ฮอร์โมนรกหมู เป็นฮอร์โมนที่นักเรียนชาวนาสามารถผลิตขึ้นเองได้ โดยไม่ต้องซื้อหา และโดยไม่ต้องเสียเงินสดในมือ (Cash in hand) ซึ่งค่าใช้จ่ายในส่วนของปุ๋ยชีวภาพ ก็สามารถลดต้นทุนไปได้ราวๆ 1,500 บาท และค่าใช้จ่ายในส่วนของฮอร์โมนต่างๆก็สามารถลดต้นทุนได้อีกหลายร้อยบาท ไม่จำเป็นต้องซื้อหา ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาตลาดร้านค้า แต่สามารถพึ่งตนเองได้ เพราะสามารถผลิตได้ด้วยตนเอง แล้วก็เป็นผู้ใช้เองด้วย พอเวลาผ่านไปกว่า 3 เดือน จึงได้เวลาเกี่ยวข้าว น้าบังอรจำต้องเกี่ยวข้าวจำนวน 2 ครั้ง โดยในครั้งแรก เกี่ยวเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2548 เกี่ยวข้าวพันธุ์ชัยนาทและพันธุ์หอมสุพรรณก่อน จากวันหว่านจนถึงวันเกี่ยว ข้าวพันธุ์ชัยนาทมีอายุข้าวถึง 110 วัน (เกินจำนวนอายุข้าวไป 20 วัน) และข้าวพันธุ์หอมสุพรรณมีอายุข้าวถึง 104 วัน (เกินจำนวนอายุข้าวไป 14 วัน) ถัดต่อมาอีกสัปดาห์หนึ่ง ก็จึงได้เกี่ยวข้าวในครั้งที่ 2 (เป็นครั้งสุดท้าย) เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2548 เกี่ยวข้าวพันธุ์พิษณุโลก ซึ่งมีอายุข้าวถึง 112 วัน (เกินจำนวนอายุข้าวไป 22 วัน) เหตุที่ต้องรอให้ข้าวอายุร่วม 100 วัน ก็เพราะว่าในฤดูกาลนี้อากาศหนาวยาวนาน ทำให้ข้าวอายุเลื่อนออกไปเป็น 100 กว่าวัน เวลาผ่านมา 100 วันเศษๆ ก็ถึงคราวจะต้องขายข้าวแลกเป็นเงินตรากลับเข้ากระเป๋าบ้าง เมื่อเกี่ยว 2 ยก ก็ต้องขายข้าวไปเป็น 2 ยก ขายข้าวเปลือกในครั้งแรก (ก็คือขายในวันที่เกี่ยวข้าว คือวันที่ 2 มีนาคม 2548) ข้าวพันธุ์ชัยนาท จำนวน 10 ไร่ ได้ข้าวเปลือกจำนวน 10 เกวียนกับเศษๆอีกสิบกว่าถัง ขายได้เกวียนละ 6,050 บาท รวม 60,500 บาท ส่วนเศษๆอีกสิบกว่าถังเก็บไว้เพื่อเตรียมปลูกในรอบต่อไป ส่วนอีกสัปดาห์หนึ่งถัดมา ก็ได้ขายข้าวเปลือกในครั้งที่ 2 (ก็ขายในวันที่เกี่ยวข้าวเช่นกัน ในวันที่ 10 มีนาคม 2548) ข้าวพันธุ์พิษณุโลก จำนวน 12 ไร่ ได้ข้าวเปลือกจำนวน 10 เกวียนกับเศษๆอีกไม่กี่สิบถัง ขายได้เกวียนละ 6,012 บาท รวม 60,120 บาท และเช่นกันกับเศษๆอีกไม่กี่สิบถัง น้าบังอรก็เก็บกักเอาไว้เป็นเมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อเตรียมเอาไว้ปลูกในรอบต่อไป การขายข้าวเปลือกทั้ง 2 ครั้ง จึงได้เงินรวมทั้งหมด 120,620 บาท จากพื้นที่นาจำนวน 22 ไร่ ส่วนข้าวพันธุ์หอมสุพรรณ อีกจำนวน 3 ไร่ ไม่ได้เกี่ยวขาย เป็นส่วนที่แบ่งไว้บริโภคเองภายในครัวเรือน คราวนี้มาดูต้นทุนการทำนาในครั้งนี้กันว่าเป็นไปจำนวนเท่าใดกันแน่ คิดกันอย่างคร่าวๆ ในเบื้องต้น รายการค่าใช้จ่ายที่เป็นต้นทุนเฉพาะส่วนที่นำเงินสดไปจ่ายจริง ได้แก่ 1) ค่าเช่าที่นา (จำนวน 5 ไร่) 4,000 บาท 2) ค่ายาคุมหญ้า (3 ชุดๆ ละ 320 บาท) 960 บาท 3) ค่าน้ำมัน 4,000 บาท 4) ค่าจ้างรถเกี่ยวข้าว 7,500 บาท 5) ค่าจ้างคนงาน (ในวันเกี่ยวข้าว) 2,500 บาท 6) ค่าจ้างรถบรรทุก (ขนข้าวเปลือก) 2,000 บาท รวมรายจ่าย 20,960 บาท ดังนั้น เมื่อนำต้นทุนที่จ่ายจริงเป็นจำนวนเงิน 20,960 บาท หักออกจากรายได้ที่ได้รับเมื่อขายข้าวเปลือก จำนวนเงิน 120,620 บาท จึงได้ส่วนเกินถือเป็นกำไร จำนวนเงิน 99,660 บาท รายรับ ดังนี้ 1) ขายข้าวเปลือกได้ จำนวน 20 เกวียน 120,620 บาท กำไรเบื้องต้น 99,660 บาท เมื่อคำนวณหาค่าเฉลี่ยต้นทุนต่อไร่ ซึ่งคิดเพียง 22 ไร่ (ไม่นับรวมอีก 3 ไร่ ที่เป็นข้าวหอมสุพรรณ) จึงได้ต้นทุนเฉลี่ยประมาณ 952.73 บาท ต่อไร่ และได้กำไรเฉลี่ยต่อไร่ ประมาณ 4,530 บาท ส่วนต้นทุนที่ไม่ได้นำมาคำนวณด้วย เพราะเป็นส่วนที่น้าบังอรสามารถผลิตได้เองภายในครัวเรือน และไม่มีค่าจ่ายจริงเกิดขึ้น รายการค่าใช้จ่ายที่เป็นต้นทุน แต่ไม่ได้เป็นค่าใช้จ่ายจริง ได้แก่ 1) ค่าเมล็ดพันธุ์ข้าว 4,887 บาท 2) ค่าปุ๋ยชีวภาพ 1,500 บาท 3) ค่าสมุนไพร 200 บาท 4) ค่าน้ำหมัก 450 บาท รวม 11,910 บาท ถ้าคิดเป็นค่าใช้จ่ายทั้งค่าใช้จ่ายจริงบวกกับต้นทุน 32,870 บาท จะได้กำไรสุทธิ เท่ากับ 87,750 บาท หรือ 3,987 บาทต่อไร่ แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า ไม่สามารถที่จะเปรียบเทียบต้นทุนการทำนาระหว่างการทำนาอย่างทั่วไปที่ใช้สารเคมีกับการทำนาแบบลดต้นทุนโดยไม่ใช้สารเคมี ทั้งนี้ก็เนื่องจาก “ก่อนหน้านี้ไม่รู้จักการทำบัญชีอะไรหรอก” น้าบังอรกล่าวเช่นนี้เมื่อครั้นที่ขอข้อมูลเพื่อนำมากรณีศึกษา แต่เรื่องนี้ก็ไม่ได้เป็นเรื่องแปลกอะไร ชาวนาทั่วไปอาจจะไม่ได้สนใจในเรื่องการคิดต้นทุนการทำนาในแต่ละรอบครั้งหรือในแต่ปี ทว่านักเรียนชาวนาอย่างน้าบังอรคนหนึ่งแล้วที่หันมาสนใจและทำการจดบันทึกทำบัญชีต้นทุนการทำนา และสามารถประมาณการกำไรที่น่าจะได้รับหลังการเกี่ยวข้าวแล้ว แม้ราคาขายข้าวเปลือกในตลาดจะเป็นราคาที่ไม่นิ่งไม่แน่นอน แต่นักเรียนชาวนาก็ยังสามารถบอกกับตนเองและผู้คนรอบข้างได้ว่า อย่างน้อยที่สุดน่าจะได้กำไรเกินกี่พันบาทต่อไร่ หากราคาขายข้าวเปลือกในตลาดกำหนดไว้ที่ประมาณ 6,000 บาท ต่อเกวียน ต้นทุนการทำนา มีความจำเป็นที่จะต้องนำเสนอด้วยการแยกส่วนค่าใช้จ่ายจริงและสิ่งที่ไม่ใช้ค่าใช้จ่ายจริง ทั้งนี้ก็เพื่อให้ต้นทุนการทำนาแบบลดต้นทุนได้แสดงความชัดเจนจากเนื้อหา เพื่อให้นักเรียนชาวนาจะได้เข้าใจการคิดคำนวณต้นทุนได้ง่ายๆ และเพื่อให้นักเรียนชาวนาสามารถเห็นจุดเปรียบเทียบระหว่างเงินสดที่ต้องใช้จ่ายออกไป เงินจำนวนนั้นน่าจะเอาเก็บไว้ใช้ในประโยชน์อื่นๆจะดีกว่า ส่วนค่าแรงงานนั้น ตัวอย่างทั้งหมดในนี้จะไม่มีการคำนวณในส่วนค่าแรงงาน ทั้งนี้ก็เพราะว่ากระบวนทัศน์ของนักเรียนชาวนา ไม่ได้ถือว่าการทำนาของนักเรียนชาวนาถือเป็นแรงงานที่ต้องนำมาคิดคำนวณ เนื่องจากนักเรียนชาวนาถือว่าการทำนาเป็นการกระทำในวิถีชีวิตของนักเรียนชาวนา ไม่อาจจะสามารถตีค่าเป็นมูลค่าต่อชั่วโมงต่อวันได้

บังอร สุวรรณสูร
credit: http://www.gotoknow.org/blog/ngos/13899

 
Free Web Hosting