ชาวนาไทย 30 ปี แนวรบไม่เคยเปลี่ยน

ปราโมทย์ วานิชานนท์ ที่ปรึกษาสมาคมชาวนาไทย
           คำกล่าวที่ว่า “ทุกข์ของชาวนา คือ ทุกข์ของแผ่นดิน” ….และ… “การพัฒนาข้าว และชาวนาต้องเอาชาวนาเป็นศูนย์กลาง” เป็นคำพูดที่ไพเราะ และดูหรู ที่ออกมาจากลมปากของนักการเมือง และชนชั้นปกครองคนแล้วคนเล่า ยุคแล้วยุคเล่า  ซึ่งผ่านมาแล้วก็ผ่านไป เราจึงพบว่าตลอดระยะเวลา 30 ปี  ปัญหาของข้าวและชาวนาไทยยังคงถูกปล่อยปะละเลยให้เป็นไปตามยถากรรม วนเวียนอยู่ในวงจรเก่า ๆ ที่ถูกนักการเมืองหยิบยกขึ้นมาใช้ประโยชน์ในทางการเมือง ชั่วครั้งชั่วคราว โดยไม่ได้มีจิตสำนึกอย่างแท้จริงต่อการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาของชาวนาไทย ภาพที่ลวงตาเราอยู่ ณ ปัจจุบันนี้ก็คือ ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ  1 ของโลกมากว่า 20 ปี ด้วยปริมาณสูงสุด 9.7 ล้านตันข้าวสาร นำเงินตราต่างประเทศเข้ามาถึงปีละ 104,000 ล้านบาท เมื่อรวมกับมูลค่าการค้าข้าวภายในประเทศก็จะมีมูลค่ารวมปีละกว่า 200,000 ล้านบาท พร้อมทั้งชื่อเสียงข้าวหอมมะลิของไทยที่มีเอกลักษณ์เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก เมื่อผู้ที่นำตัวเลขนี้ไปกล่าวอ้างก็ได้รับคำชื่นชมยินดีว่าเป็นผลงาน แต่เบื้องหลังนั้นเกิดจากหยาดเหงื่อและพลัง 2 มือของชาวนาไทย 4.7 ล้านครอบครัว ที่ได้สร้างคุณูปการทั้งหลายทั้งปวง  จนกระทั่งเป็นที่มาของข้าวประเทศไทย แต่ความจริงที่เจ็บปวดก็คือ ชาวนาไทยกว่าร้อยละ 90 ยังคงด้อยโอกาสและยากจน ด้วยเหตุที่ขาดการพัฒนาอย่างจริงจังจากรัฐบาล
         ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี ที่ผ่านมา กล่าวได้ว่า ทุกพรรคการเมืองที่มีอยู่ในประเทศไทยขณะนี้ ได้มีโอกาสเข้ามาเป็นรัฐบาลบริหารประเทศ ได้มีโอกาสที่จะแก้ไขปัญหาข้าวและชาวนา แต่สิ่งที่นักการเมืองจะทำเหมือนกันหมดก็คือ ลืมคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ต่อเกษตรกรชาวนาเมื่อตอนหาเสียง การช่วยเหลือชาวนาก็มีเพียงมาตรการในการจำนำข้าว เพื่อให้ชาวนาพึงพอใจในราคาข้าวเปลือก แต่ไม่เคยมีนโยบายที่จะพัฒนาชาวนาและข้าวของประเทศอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ชาวนามีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน รวมทั้งพัฒนาอุตสาหกรรมข้าวของประเทศให้มีศักยภาพในการแข่งขัน  เราพบเหตุผลว่า ทำไมนักการเมืองจึงชอบให้มีโครงการจำนำและแทรกแซงของรัฐบาล ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่ก็ทำต่อเนื่องกันมาทุกปีและทุกรัฐบาล คำตอบก็คือ จะใช้เป็นข้ออ้างต่อสาธารณชนว่ารัฐบาลได้ช่วยชาวนาแล้ว แต่ภายใต้โครงการจำนำข้าวกลับเต็มไปด้วยวงจรอุบาทว์ของการทุจริตและคอรัปชั่นอย่างเป็นขบวนการ  และในการขายข้าวในโกดังของรัฐบาลก็จะมีข่าวคาวของรัฐมนตรี 2 เหรียญ, 5 เหรียญ  รวมทั้งการขายข้าวที่นำทรัพย์สินของหลวงไปเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทพวกพ้อง จนเป็นที่อื้อฉาวในหน้าหนังสือพิมพ์และเป็นประเด็นในการอภิปรายในสภา ทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่โครงการจำนำข้าวนับจากปี 2542 – 2546 รัฐจะขาดทุนสะสมกว่า 17,000 ล้านบาท และยังจะต้องขาดทุนอีกต่อไป ตราบใดที่ยังมองเรื่องข้าวว่าเป็นแหล่งที่จะมาแสวงหาประโยชน์ได้ง่าย ๆ โดยใช้การช่วยเหลือชาวนามาเป็นข้ออ้างบังหน้า
        การที่ประเทศชาติต้องเสียเงินนับหมื่นล้าน โดยที่ชาวนาไม่ได้รับการพัฒนา จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง และแต่ละปีที่ผ่านไปเราก็สูญเสียโอกาสในการพัฒนา เราพบความจริงเพิ่มขึ้นว่า ทุกวันนี้ชาวนาโดยเฉพาะชาวนาที่ทำนาปรัง (ทำนาปีละ 2-3 ครั้ง) เกิดโรคเสพติดกับโครงการจำนำ มุ่งแต่ปลูกข้าวโดยเอาปริมาณไม่ได้คำนึงถึงคุณภาพของข้าว ต้นทุนการปลูกข้าวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันชาวนากลับอ่อนแอลง เราพบต่อไปว่า ชาวนาภาคอีสานที่ทำนาปี ปลูกข้าวหอมมะลิ แม้รัฐบาลจะเพิ่มราคาข้าวในโครงการจำนำให้ชาวนาถึงตันละ 10,000 บาท ในช่วงก่อนการเลือกตั้งทั่วไปของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (6 มกราคม 2548) เมื่อคำนวณเป็นรายได้ของครอบครัวแล้ว จะมีรายได้สุทธิเพียงเดือนละ 1,200 บาท ต่อครอบครัว (4 คน) ต่อเดือนเท่านั้น ยังต่ำกว่าเส้นความยากจนของคนไทยที่สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประกาศ อยู่ที่ 1,674 บาท ต่อคน ต่อเดือน
        ดังนั้นการที่รัฐบาลมีแนวคิดว่าได้ช่วยเหลือชาวนาด้วยการซื้อข้าวเปลือกหอมมะลิในราคาตันละ 10,000 บาท ก็น่าจะหมดภาระรัฐบาลแล้วนั้น ตัวเลขรายได้ของครอบครัวชาวนาภาคอีสานก็จะเป็นภาพที่ฟ้องว่า ทุกข์ของชาวนายังคงเป็นทุกข์ของแผ่นดินต่อไป อย่างไม่มีวันสิ้นสุด
        วันนี้ แนวรบของชาวนาต้องเปลี่ยนแปลง เหตุเพราะเราไม่มีการพัฒนาอย่างมียุทธศาสตร์มากว่า 10 ปีแล้ว  ทำให้อุตสาหกรรมข้าวของประเทศอ่อนแอลงทุกวัน ชาวนาเองก็ไม่มีโอกาสพัฒนาอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง องค์กรชาวนาไม่ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนให้สามารถเป็นองค์กรที่เป็นที่พึ่งของชาวนาทั่วประเทศได้ ภาพโดยรวมของชาวนาก็อ่อนแอ การกำหนดยุทธศาสตร์ข้าวแห่งชาติ ประการหนึ่ง การกล่าวว่า จะต้องให้ชาวนาเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาอีกประการหนึ่ง ก็จะกลายเป็นเรื่องของแนวคิดเชิงระบบอุปถัมภ์  และเชิงประชาสงเคราะห์แบบเดิม ๆ ที่รัฐคอยคิดแทน ทำแทนประชาชนอยู่ตลอดเวลา
        ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดข้อตำหนิดังกล่าว การเปิดโอกาสให้ชาวนาได้มีส่วนร่วมในการกำหนดยุทธศาสตร์ข้าว  และการกำหนดวิถีชีวิตของชาวนาด้วยตนเอง ทำให้ชาวนาได้มีส่วนร่วมคิดร่วมทำ อันเป็นการสร้างชาวนาให้เข้มแข็ง เพื่อที่ชาวนาจะได้ยืนด้วยลำแข้งของตนเอง ไม่ตกเป็นเหยื่อของกระแสทุนนิยม และการบริโภคนิยม และด้วยทิศทางของการพัฒนาที่ถูกต้องนี้ จึงจะนับเป็นชัยชนะของชาวนา และชัยชนะของประเทศชาติอย่างแท้จริง

 

One Response

You can follow any responses to this entry through the RSS 2.0 feed.

You can leave a response, or trackback from your own site.

  1. ชาวนาไทย พูดว่า:

    ชาวนายังทุกข์ทนกับความเลื่อมล้ำทางสังคม

Leave a Reply

Free Web Hosting