บทวิเคราะห์ : ปัญหาของชาวนาไทย

          จากปัญหาการช่วงชิงทางการตลาดการแข่งขันที่รุนแรงของตลาดข้าว รวมถึงปัญหาด้านการวิจัยพัฒนาในประเทศไทย ซึ่งส่งผลไม่น้อยต่อภาคการผลิตและการส่งออกของไทย (ติดตามอ่านได้ใน บทวิเคราะห์ : อุปสรรคของข้าวไทย) แต่นอกจากปัจจัยดังกล่าว อุปสรรคสำคัญที่สุดต่อกระบวนการพัฒนาข้าวและการส่งออกของไทย มาจากปัจจัยภายในประเทศเอง นั่นคือปัญหาของชาวนาไทย อย่างเมื่อวันที่ 26 มกราคม ที่ผ่านมา กลุ่มเครือข่ายหนี้สินชาวนาฯ จำนวนหลายร้อยคนได้เคลื่อนขบวนมาชุมนุมปิด ถ.พิษณุโลก ด้านหน้าทำเนียบรัฐบาล พร้อมเรียกร้องขอพบนายกรัฐมนตรีเพื่อให้ช่วยรับซื้อหนี้และขยายเวลาการผ่อนชำระหนี้ออกไป รวมถึงแก้ปัญหาที่ดินทำกินที่ติดจำนองกับสถาบันการเงิน นี่เป็นปัญหาที่สะท้อนได้ถึงชีวิตความเป็นอยู่ของชาวนาไทย
          มีการมองว่าการพัฒนาภาคการผลิตทั้งหมดจะสำเร็จหรือไม่อยู่ที่การพัฒนาชาวนา แต่ปัจจุบันยังคงพบว่าเกษตรกรผู้ปลูกข้าวไทยนอกจากต้องเผชิญกับภาวะราคาข้าวตกต่ำ ยังต้องเผชิญกับการถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง รวมถึงข้อเรียกร้องความไม่เป็นธรรมของราคาข้าวบ่อยครั้ง ทำให้เกษตรกรจำนวนไม่น้อยไม่สามารถหลุดพ้นจากภาระหนี้สิน…. มีการสำรวจพื้นที่ทำนาพบว่า ชาวนามีพื้นที่ทำนาเฉลี่ย 15 ไร่ ต่อครัวเรือน แต่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เช่าทำนา ซึ่งหากเทียบสัดส่วนพบว่าชาวนาที่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเองมีจำนวนน้อยมาก ขณะที่ชาวนาถือเป็นเกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศ และส่วนใหญ่ยากจน ทำให้อาชีพชาวนามักถูกมองว่าต่ำต้อย จนเกิดความไม่ภาคภูมิใจส่งผลให้ลูกหลานไม่นิยมสืบทอดอาชีพในที่สุด นี่คือผลพวงที่ไทยอาจต้องเผชิญในอนาคต หากการช่วยเหลือหรือสนับสนุนยังคลุมเครือเฉกเช่นในปัจจุบัน
          นายอนันต์ ดาโลดม คณะอนุกรรมมาธิการและเลขานุการคณะอนุกรรมาธิการข้าว และอดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตร มองว่า ปัจจุบันกระทรวงพาณิชย์เป็นหน่วยงานหลักที่ดูแลเรื่องของข้าวราคาข้าว และการส่งออก แต่ที่ผ่านมามีการทำงานในเชิงมุ่งเน้นด้านการส่งออกและการตลาดเชิงเดียว ขณะที่ไม่ได้มีตัวแทนของเกษตรกรเข้าไปมีส่วนร่วมมากนัก ทำให้เกษตรกรเสมือนไม่มีตัวแทนที่เป็นปากเสียงของตนในหน่วยงานของรัฐฯ ดังนั้น การหาทางออกในการดูแลช่วยเหลือเกษตรกรไทย อาจทำได้โดย
          ประการแรก แนะว่า กระทรวงพาณิชย์ไม่ควรทำงานทั้งหมดภายใต้กลไกเดียว แต่ควรต้องตั้งบอร์ดของแต่ละส่วนขึ้นมาโดยมีตัวแทนจากทุกภาคส่วนเพื่อเข้าไปดูแล คือ ข้าราชการ เกษตรกร และผู้ประกอบการ เพื่อทำให้มาตรการที่ออกมาโปร่งใส และไม่บิดเบือน บอร์ดที่คั้งขึ้นนี้อาจเป็นรูปแบบขององค์กรอิสระ ที่ทุกฝ่ายเข้ามาอย่างเท่าเทียมกัน มีข้อตกลงออกมาเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่าย มีการตรวจสอบได้ ขณะเดียวกัน
           ประการที่สอง คณะกรรมการระบายข้าวต้องไม่ใช่กระทรวงพาณิชย์แต่เพียงผู้เดียว แต่ควรมีกลไกอื่นร่วม อย่างสภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม ผู้แทนเกษตรกร ผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นต้น เข้ามามีส่วนร่วม แต่ปัจจุบันเป็นการมอบอำนาจให้กระทรวงพาณิชย์ทั้งหมด ทำให้เกิดการกระจุกอำนาจ และการแสวงหาผลประโยชน์จากมาตรการของรัฐฯ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดมาตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มี การมองว่า วิธีการนี้ จะเป็นการช่วยให้เกษตรกรไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ และสามารถช่วยเหลือด้านการกำหนดราคาข้าวได้อย่างเป็นธรรม ซึ่งในระยะยาวจะช่วยให้ความเป็นอยู่ของเกษตรกรดีขึ้น และลดภาระหนี้สินได้ แต่หากไม่มีการดำเนินการแก้ไขอย่างเข้มข้นในเรื่องนี้อาจส่งผลให้ในระยะยาว คือ พื้นที่นาข้าวลดลงจากการเปลี่ยนพื้นที่เพาะปลูกเป็นสิ่งก่อสร้าง หรือชาวนาทิ้งที่ดินเพราะภาระหนี้สิน หรือลูกหลานไม่เห็นคุณค่าของที่ดินจึงขายทิ้ง “ฉะนั้นทำอย่างไรจะให้ชาวนาดีขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดการหันหลังให้นา” นายอนันต์กล่าว
          ด้านแนวคิดจากนักวิชาการในการช่วยเหลือปัญหาหนี้สินของเกษตรกร โดยนายปราโมทย์ วานิชชานนท์ ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการข้าว กล่าวว่า รัฐบาลสามารถช่วยเหลือด้านความเป็นอยู่ของชาวนาไทยให้ดีขึ้นได้ ด้วยการอาจแบ่งเงินส่วนหนึ่งเพื่อเข้าไปช่วยเหลือเกษตรกร เช่น อาจใช้วิธีการเก็บค่าธรรมเนียมจากการส่งออก อย่างน้อยปีละ 1% และนำเงินดังกล่าว มาตั้งเป็นกองทุนวิจัยพัฒนาข้าวและชาวนาไทย โดยส่งเสริมกองทุนนี้ให้มั่นคง ซึ่งอาจมีกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตร ผู้ทรงคุณวุฒิ เกษตรกร รวมถึงองค์กรอื่นๆ เข้ามาจับมือร่วมกันเพื่อทำงานร่วมในกองทุนดังกล่าว
         นอกจากนี้มีการเสนอว่า อาจนำรายได้ส่วนหนึ่งจากการส่งออก หรือดอกเบี้ยจากการรับจำนำข้าว นี้ มาเป็นสวัสดิการชาวนา กองทุนชาวนา หรือจัดให้มีการขึ้นทะเบียนชาวนา เพื่อช่วยเหลือเมื่อชาวนามีปัญหาเจ็บไข้ได้ป่วย อยู่ในภาวะไม่สามารถทำนาได้ หรือประสบปัญหาขาดทุนจากผลผลิต ทั้งหมดนี้เพื่อให้ชาวนาได้มีหลักประกัน ได้มีที่พึ่ง เนื่องจากปัจจุบันชาวนาไม่มีหลักประกันใดๆ เลย ทั้งๆ ที่สร้างประโยชน์ให้แก่ชาติมหาศาล
          ทั้งหมดนี้จึงเป็นเสียงเรียกร้องหนึ่ง อันเป็นเสียงสะท้อนที่อยากให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการสนับสนุนผลประโยชน์ให้แก่ชาวนาอย่างแท้จริง ผ่านทางรูปแบบวิธีการต่างๆ ทั้งนี้เพราะ ประเทศไทยจะมองข้ามถึงความสำคัญของชาวนาไทยไม่ได้ เพราะถือเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการเลี้ยงปากท้องของคนทั้งประเทศ การช่วยเหลือนอกจากจะสร้างความมั่นคงและความอยู่ดีมีสุขของชาวนาไทยแล้ว ในระยะยาวยังเป็นการช่วยอนุรักษ์อาชีพที่แสดงถึงภูมิปัญญาที่สืบสานมาดังเดิม เพื่อให้ลูกหลานไทยได้เกิดความภาคภูมิใจต่อไปในอนาคต

เครดิค: พิมพิดา โยธาสมุทร เรียบเรียง
ชูชาติ เทศสีแดง บรรณาธิการ

 

Leave a Reply

Free Web Hosting